เรียน Fundamentals of Digital Marketing พร้อมรับ Certificate ฟรี จาก Google Digital Garage
บทความนี้ แอดขอแนะนำอีก 1 Online Learning Platform ในตำนานจาก Google ที่มีชื่อว่า Google Digital Garage โดยแบ่งเนื้อหาใน Platform ออกเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ มีทั้งคอร์สฟรีและเสียเงิน
- Digital Marketing
- Career Development
- Data
คอร์สที่แอดจะพาเพื่อนๆ ทุกคนไปเรียนกันในวันนี้ มีชื่อว่า Fundamentals of Digital Marketing ปูพื้นฐาน Digital Marketing สำหรับผู้เริ่มต้น
โดยทุกคนสามารถคลิกลิ้งด้านล่างเพื่อเข้าเรียนคอร์สนี้ไปพร้อมกับแอด
ผู้ร่วมก่อตั้งคอร์ส
- Google จากฝั่ง UK
- The Open University องค์กรที่สนับสนุนความยืดหยุ่นในการเรียนผ่านการเรียนออนไลน์
- Interactive Advertising Bureau หรือ iab ของยุโรป เป็นองค์กรสำหรับ Digital Marketing และ Advertising Ecosystem
และนี่คือตัวอย่าง Certificate ที่ได้หลังจากเรียนจบคอร์สนี้ จะเห็นว่ามีชื่อของทีมที่ก่อตั้งอยู่ด้วยในใบ Certificate
รายละเอียดเบื้องต้นของคอร์ส
- ประกอบด้วย 26 Modules
- ระยะเวลาประมาณ 40 ชม. (เรียนไปกับแอดจะไวกว่า 555)
- ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านนี้มาก่อน
- ฟรี!! ไม่เสียเงินสักกะบาทเดียว
- ได้ Certificate ฟรี เมื่อเรียนจบและผ่านการทดสอบ
1. Take a business online
Module 1: The online opportunity
ประโยชน์ของธุรกิจเมื่ออยู่บนโลกออนไลน์ มีอะไรบ้าง
1. หาเจอจากการ Search
เมื่อคนค้นหาสิ่งที่เกี่ยวกับธุรกิจประเภทเดียวกับเรา ธุรกิจเราเองก็จะถูกค้นเจอในหน้า SERPs เช่นกัน
2. ได้ Insights เพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไป
เมื่อมีคนเข้ามายัง Website ธุรกิจของเรา การเก็บข้อมูลลูกค้าทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมและสิ่งที่เค้าสนใจ เพื่อต่อยอดในการคิด Promotion และแนะนำสินค้าให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าในอนาคตได้
3. ลด Cost การยิงโฆษณา
ยิงโฆษณาได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ถ้าธุรกิจคือร้านเสื้อผ้า เราจะยิงโฆษณาเกี่ยวกับสินค้าที่เป็น "รองเท้า" สำหรับคนที่ Search คำว่า "รองเท้า" เท่านั้น
การทำสิ่งนี้จะลดค่าโฆษณา โดยไม่จำเป็นต้องหว่านแหยิงโฆษณาโดยใช้เงินจำนวนมาก แต่ไม่ถูกกลุ่มเป้าหมาย
แล้วเราจะไปอยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างไร? อ่านต่อสิค้าบ 555+
Module 2: Your first steps in online success
สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์
มี 3 ช่องทางที่ทำให้ธุรกิจของเราเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์
- Website (แอดกำลังทำให้เพื่อนๆ รู้จักอยู่)
- Mobile Apps
- Social Media
แต่ก่อนหน้านั้น Google มีสิ่งที่เรียกว่า Google My Business เป็นเครื่องมือแรกเลยถ้าธุรกิจของเรามีหน้าร้านอยู่ในโลกความเป็นจริง
เพื่อนๆ สามารถเข้าไปสมัครใช้งานได้ฟรี อย่างน้อยเมื่อมีค้น Search Keyword เช่น ร้านอาหารใกล้ฉัน (แสดงว่าใกล้เพลแล้ว เอ้ยยย ไม่ใช่ฉันแบบพระฉันข้าว)
ธุรกิจของเราก็จะแสดงขึ้นมาเป็นพิกัดตามภาพด้านล่าง จากนั้นลูกค้าก็กด Direction ผ่าน Google Map นำทางลูกค้ามาสู่ร้านของเราได้ง่ายๆ
ทำการตลาดบนโลกออนไลน์
1. SEO
คือ Search Engine Optimization เป็นการทำการตลาดโดยเน้นคุณภาพของเนื้อหาบน Website เป็นสิ่งที่แอดพยายามทำอยู่นั่นเอง หลักๆ คือ เนื้อหาต้องมีประโยชน์และมีสาระ แอดมองว่าตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างห้องสมุดให้กับโลกใบนี้ได้
ถ้าเนื้อหาของเรามีคุณภาพมากพอ Website ของเราจะขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ ในหน้า SERPs นั่นเอง!!
2. SEM
คือ Search Engine Marketing เป็นการใช้เงินปาอัดเข้าไป เพื่อแย่งชิงพื้นที่อันดับบนๆ ของหน้า SERPs วิธีนี้มักใช้ช่วงแรกๆ ที่ธุรกิจเรายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
Modules ถัดๆ ไปจะมีการพูดถึง SEO, SEM ละเอียดมากขึ้น
3. Social Media
เป็นการสร้าง Facebook Fanpage, Instagram, Twitter, Tiktok เพื่อช่วยในการขยายฐานลูกค้า แต่ที่สำคัญเราควรเข้าใจลักษณะคนที่อยู่ในแต่ละ Platform ด้วย
4. Email Marketing
ต้องแยกให้ออกระหว่าง Junk หรือ Spam Email กับ Marketing เพราะตัว Email Marketing จะส่งข้อมูลข่าวสาร หรือ Promotion ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ถูกเลือกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนให้มาซื้อซ้ำ หรือมี Special Gift สำหรับวันเกิดของลูกค้า เป็นต้น
Module 3: Build your web presence
การทำงานของ Website
หลักการสร้างหน้าร้านบนโลกออนไลน์ก็ไม่ต่างจากออฟไลน์มากนัก ก่อนอื่นต้องหาพื้นที่ว่างเพื่อสร้างร้าน เราเรียกสิ่งนั้นว่า Server
1. Server
Server คือ คอมพิวเตอร์ที่เชื่อม Internet และมี Software เพื่อ Host Website หรือตั้งหน้าร้านออนไลน์นั่นเอง
มีหน้าที่เก็บ Code, Images, Video และส่วนประกอบต่างๆ บน Website เพราะเมื่อถูก Request จากคนที่เข้ามายัง Website เจ้าตัว Server ยังมีหน้าที่ในการส่งข้อมูลต่างๆ ที่เก็บไว้ไปยังอุปกรณ์ของคนที่ Request มาด้วย
2. IP Address
IP Address (Internet Protocol Address) เปรียบเสมือนบ้านเลขที่ในโลกออฟไลน์ โดยจะอยู่ในรูปของ String และ Number ทุกๆ อุปกรณ์ที่เชื่อม Internet จะมี IP Address เพื่อคุยกับ Server
3. Domain Name
Domain Name เปรียบเสมือนป้ายชื่อร้านค้าในโลกออฟไลน์ ลูกค้าต้องเอาสิ่งนี้พิมพ์ลงไปใน Web Browser เพื่อค้นหาข้อมูลของธุรกิจนั้นๆ เช่น https://www.malonglearn.com/
สิ่งที่อยู่หลัง www. นั่นแหละเราเรียกว่า Domain Name
หลักการสร้าง Website ที่ดี
- การเลือก Domain Name: เพื่อนๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบ Domain ว่ามีคนใช้ไปแล้วหรือยังได้ที่ https://domains.google/
- การตั้ง Domain ที่เหมาะสม: Domain ที่ดีต้องให้ผู้คนจดจำได้ง่าย สั้นๆ ได้ใจความ เลือกได้ทั้ง .com .co.th หรือ อื่นๆ ส่วน non-profit organizations มักใช้ .org
- การวางโครงสร้าง Website: หน้า Home ควรมีโครงสร้างที่ง่ายไม่ซับซ้อน และมี Navigation system ที่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด
ลองอ่านบทความของ HubSpot เพิ่มเติมได้ (แต่อ่านบทความนี้ก่อนดีกว่า 555+)
- เนื้อหาต้องพรีเมี่ยม: เขียนเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อผู้คน หรือลูกค้าของธุรกิจ เช่น มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับรายอะเอียดของสินค้า ช่องทางการติดต่อ การขอคืนเงิน
เราสามารถช่วยอะไรเค้าได้บ้าง เช่น How to ต่างๆ ที่ช่วยเพิ่ม Engagement ได้ การลง Content บ่อยๆ เช่น วีดีโอการแก้ปัญหาให้ลูกค้าพร้อมกับ Feedback ของลูกค้าหลังจากการแก้ไข หรือให้คนอื่นๆ มาเขียนรีวิวบน website ของเราก็ช่วยได้เช่นกัน
Module 4: Plan your online business strategy
การวางแผนกลยุทธ์ออนไลน์
- ตั้ง Goals ให้ชัด: ต้องการเพิ่มยอดขาย หรือ เพิ่มลูกค้าที่เป็น Premium 100 คน เพื่อกำหนด Direction ได้ง่ายขึ้น
- เลือกวลีที่บอกความเป็นตัวตนของธุรกิจ: เช่น หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เป็นต้น
- หา USP: USP คือ Unique Selling Point สิ่งที่เป็นจุดขายเฉพาะของเรา เช่น รองเท้าพับได้ หรือเสื้อยืดสะท้อนน้ำ เป็นต้น
ตัวอย่าง Goals และกลยุทธ์
เมื่อ Goals คือ เพิ่มยอดขาย: กลยุทธ์ คือ การเพิ่ม Traffic เข้าสู่ Website ด้วยวิธีต่างๆ เช่นการซื้อโฆษณา
เมื่อ Goals คือ เพิ่มการรับรู้: กลยุทธ์ คือ ใช้ Social Media ในการ Post เนื้อหาหรือรูปภาพโดนๆ หรือเกาะกระแสเพื่อให้คนรู้จักธุรกิจมากขึ้น
เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าออนไลน์และออฟไลน์
Journey ของลูกค้าออฟไลน์
ส่วนใหญ่ลูกค้าออฟไลน์จะไป Shopping ตามห้างใหญ่ๆ เดินดูของจากหลายๆ ร้าน ปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าสนใจสินค้าคือ ราคา, คุณภาพ, นโยบายการรับคืนสินค้า, โปรโมชั่น, สิทธิพิเศษต่างๆ, การบริการของพนักงานขาย
แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของ Stock สินค้า บางร้านอาจจะมี Size ไม่ครบ หรืออาจมีสินค้าอยู่ที่สาขาอื่น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็ทำการจ่ายเงินซื้อสินค้า เป็นการจบ Journey
Journey ของลูกค้าออนไลน์
ส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ 4 Stages
- See: ขั้นตอนแรกเป็นการเห็น เห็นสิ่งที่อยู่บน Social Media เช่น มีเพื่อนหลายๆ คน Post รูปตัวเองกับรองเท้าวิ่ง และตั้ง Caption ต่างๆ เช่น #สวยสุขภาพดี #วิ่งหาคู่ ทำให้เราโดนสังคมหล่อหลอม เลยเริ่มรู้ว่าเราเองก็อยากวิ่งก็ได้ 555+
- Think: ขั้นตอนที่สองเป็นการพิจารณา ลองค้นหาคำว่า "รองเท้าวิ่งสำหรับมือใหม่" จากนั้นหน้า SERPs จะแสดงข้อมูลมากมาย รวมถึงโฆษณาจาก SEM ด้วย
- Do: ขั้นตอนที่สามเป็นการลงมือ แต่ไม่ใช่ลงมือวิ่งนะ ลงมือกด Purchase หรือซื้อรองเท้าวิ่งต่างหาก ในขั้นตอนนี้เองอาจมีการสลับไปที่ Journey ของลูกค้าออฟไลน์ เช่นการแวะไปลองสินค้าจริงที่ร้าน ดู Size ให้แน่นอน แล้วค่อยกลับมาซื้อในออนไลน์ เราเรียกสิ่งนี้ว่า "Showrooming"
- Care: ขั้นตอนที่เป็นการอวด หลังจากเราได้รองเท้าวิ่งแล้ว เราก็ทำการวิ่งและ Post รูปเพื่อสร้าง Do Stage ให้กับเพื่อนคนอื่นของเราต่อไป
เข้าใจ Touchpoints ของลูกค้า
Touchpoint คือ ทุกๆ จุดที่ลูกค้าที่มี Potentials เข้ามาเกี่ยวของและเชื่อมโยงกับธุรกิจนั้นๆ ลองดูตัวอย่างทั้งออฟไลน์และออนไลน์
ร้านค้าออฟไลน์: เดินผ่าน sensor > เดินไปอ่านป้ายตามลอคเพื่อหาสินค้า > เดินเข้าไปหาสินค้า > หยิบของใส่รถเข็น > เดินไปจ่ายเงิน > ต่อคิว > จ่ายเงิน > บอกเลขสมาชิก > จ่ายเงิน > เข็นรถเข็นไปที่รถ
ร้านค้าออนไลน์: เปิด Google ค้นหาข้อมูลสินค้า > กดเข้าไปอ่านรีวิว > เข้า Web หรือ App Marketplace > ค้นหาข้อมูลสินค้า > เทียบราคา > หยิบใส่ตะกร้า > ใช้คูปองส่วนลด > ชำระสินค้า > รอบริษัทขนส่ง
หน้าที่ของธุรกิจคือการแจกแจง Touchpoints ต่างๆ ออกมาอย่างละเอียดและคอยพัฒนาแต่ละจุดให้ดีและตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ
ทำ SWOT Analysis
เพื่อเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็ง รวมถึงปัจจัยภายในและภายนอกของธุรกิจ
- Strengths : สิ่งที่เราทำได้ดี
- Weakness : อะไรที่เราทำได้ดีกว่านี้
- Opportunities : เราจะเติบโตและพัฒนาได้อย่างไร
- Threats : สิ่งที่ส่งผลในแง่ลบต่อเรา ทั้งภายในและภายนอกมีอะไรบ้าง
2. Make it easy for people to find a business on the web
Module 5: Get started with search
มารู้จัก Search Engine กันเถอะ
Search Engine แรกเริ่มเดิมที่มีชื่อว่า Archie มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นโปรแกรมค้นหา Filenames ที่เป็นรายชื่อของ Web Pages
หลังจากนั้นราว 10 ปี Google, Bing, Yahoo และอื่นๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นเพื่อจัดเรียงสิ่งต่างๆ จาก Web Pages จำนวนมากบนโลก มีพื้นฐานการทำงานคล้ายกัน เมื่อมีคนใช้คำเพื่อค้นหาสิ่งต่างๆ ใน Search Engine (Search query หรือ Keyword)
จากนั้น Search Engine จะแสดงผล Web Pages ต่างๆ ที่มีข้อมูลใกล้เคียงกับ Search query มากที่สุด โดยแสดงผลอยู่ในหน้า SERPs
เป้าหมายของ Search Engine
การทำงานของ Search Engine
- Crawling: เมื่อมี Web Page ใหม่ถือกำเนิดขึ้น Search Engine จะทำการ Crawl ข้อมูลต่างๆ เพื่อทำความรู้จัก ผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Crawler, spiders, bots ทำงานโดยการไปที่หน้านั้นๆ ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อหาเนื้อหาใหม่และจัดเก็บเป็น index
- Indexing: การจัดเรียงเนื้อหาแต่ละชิ้นใน List ขนาดใหญ่มากๆ ที่ใช้ List Web Pages และเนื้อหาทั้งหมดที่ bots ตรวจพบ
- Ranking: การตัดสินใจว่าเนื้อหาใดน่าจะมีประโยชน์ที่สุดสำหรับ Users และแสดงผลในหน้า SERPs
Search Engine มองเห็น Web อย่างไร
Search Engines จะมอง web ไม่เหมือนกับที่เราเห็น แต่จะมองไปที่ Code HTML ที่อยู่เบื้องหลัง ส่วนแรกที่สำคัญของ page คือ Title สามารถจัดการได้ด้วย CMS (Content Management System) เช่น Wordpress, Ghost (แอดใช้อยู่)
มารู้จัก Google Search Console กันเถอะ
Module 6: Get discovered with search
SEO (Search Engine Optimization) คืออะไร
SEO ช่วยให้ Search Engine รู้ว่า Website มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร โดยดูจากคำและกลุ่มคำ เป็นกามเทพที่มอบเนื้อหาที่ใช่ให้กับคนที่กำลังค้นหาข้อมูลอยู่
Keyword Research
สำรวจดูว่ามี คำ หรือ กลุ่มคำอะไรบ้าง ที่คนใช้ค้นหาเกี่ยวกับธุรกิจประเภทเดียวกัน ถ้าเราเป็นร้านขายอาหารสัตว์ Keyword ก็อาจจะเป็น อาหารแมว, อาหารสัตว์เลี้ยงราคาถูก, ทรายแมว เป็นต้น
การเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ จะช่วยให้มี SEO ที่ดี สามารถถูกค้นหาเจอได้ง่ายขึ้น เมื่อคนเข้ามาอ่านบทความและใช้เวลาอยู่บน Website นาน Google จะมองว่าเนื้อหานี้มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คนกำลังตามหา
เทคนิคการเลือกใช้ Keywords
Frequency
จำนวนครั้งที่แต่ละคำถูกค้นหา เลือกใช้คำที่ถูกค้นหาบ่อยที่สุด
Competition
ถ้า Website เรามีมานานแล้ว การใช้เทคนิค Frequency จะทำให้ Ranking ของเราดีมาก แต่ Website ใหม่ควรใช้ Keyword ที่มีการแข่งขันน้อยลงมานิดหน่อย (Main/Broad Keywords) ผสมกับ Keyword ที่มีจำนวนการค้นหาน้อย (Long Tail Keywords) เพื่อผสมเป็น Keyword ที่เจาะจงมากขึ้น เช่น ร้องเท้ากีฬา + น้ำหนักเบา
Relevance
Keywords ที่เลือกควรเป็นคำที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวของกับเนื้อหาบน Website และพยายามหลีกเลี่ยงการใส่ Keyword ซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่า "Keyword stuffing" เมื่อ Google ตรวจพบจะถูกถีบลงไปอยู่อันดับล่างๆ ทันที
4 Tips ที่ทำให้ถูกค้นหาเจอในโลกออนไลน์
- เข้าใจวิธีการทำงานของ Search Engine ติดตามอัพเดทข่าวสารและวิธีการ Optimize Website อยู่เสมอ
- ตรวจสอบการเข้าถึง Website จากอุปกรณ์หลายๆ ประเภท เช่น Laptop และโทรศัพท์มือถือ เพราะ Google จะให้คะแนน SEO จาก Mobile-friendly ด้วย
- คอยอัพเดทเทรน ดูคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกันว่าเค้าใช้สื่อออนไลน์แบบไหน
- ถามลูกค้า ว่าอยากได้เนื้อหาอะไรเพิ่มเติม หรือปรับปรุงส่วนไหนของ Website เพื่อให้มีประสบการณ์ที่ดีขึ้น
มาลองดูกระบวนการทำ SEO กันเถอะ
Module 7: Make search work for you
1. On Page Optimization
ปัจจัยภายในของ Website เพราะเป็นสิ่งที่เราเริ่มทำได้ด้วยตัวเอง
Page Title and Meta Description
ทั้ง Page Title และ Meta Description เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกดเข้ามาสู่ Website ของเรา เพราะเป็นสิ่งแรกที่จะปรากฏบนหน้า SERPs ตามภาพด้านล่าง
ถ้าธุรกิจเป็นร้านค้า ก็ควรมีชื่อร้าน + Title เช่น นายตู่ ไก่สด และมี Meta Description ไม่เกินสองประโยค ที่สำคัญควรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ใน Website ด้วย
Headings and Page Copy
Headings เป็นหัวข้อที่อยู่ด้านบนของ Website แต่ละหน้า รวมถึงหัวข้อต่างๆ ที่อยู่ในบทความด้วย โดยหัวข้อใหญ่หรือชื่อบทความเราจะใช้ H1 ครอบ เพื่อเน้นขนาดและความสำคัญ ตัวอย่างตามภาพด้านล่าง
Page Copy คือ การใส่คำ หรือกลุ่มคำที่เราต้องการใช้เป็น Keyword ไว้ในจุดต่างๆ ของเนื้อหาในแต่ละหน้าของ Website แต่ต้องระวังเรื่อง "Keyword stuffing" ด้วย
2. Off Page Optimization
ปัจจัยภายนอกที่ช่วยให้ Website ของเราค้นหาเจอง่ายขึ้น
Backlinks
Backlinks คือ การที่มีคนเอา URL ของ Website ของเราไปแปะตามที่ต่างๆ เช่น การแสดงความคิดเห็นใน Website ต่างๆ และพยายามอ้างอิงถึง Website ของเรา แบบที่แอดทำเวลาเอารูปของคนอื่นมาใช้ เป็นการให้เครดิตเจ้าของภาพด้วย
Google มองว่าการที่มีคนอ้างถึงเราเยอะ แปลว่า Website เรามีคุณภาพดี! ยิ่งถูกอ้างอิงจาก Website ดังๆ หรือมีชื่อเสียงในด้านนั้นๆ ก็จะส่งผลให้ SEO ดียิ่งขึ้น อันดับในหน้า SERPs ก็จะถูกดึงมาอยู่อันดับต้นๆ การเขียนบทความหรือเนื้อหาที่ดี มีประโยชน์ต่อคน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มีคนอ้างอิงมากขึ้น
Social Media
Social Media คือ สิ่งที่ช่วยเพิ่มการรับรู้ของธุรกิจให้กับทุกๆ คนมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่สามารถพูดคุยโดยตรงกับคนที่เพิ่งรู้จักเราหรือเป็นลูกค้าอยู่แล้ว
เพื่อทำให้เค้าเป็นลูกค้าของเราอย่างต่อเนื่อง และคิด Campaign แนะนำเพื่อน ทำให้ลูกค้าเก่าแนะนำเพื่อนใหม่มาก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าได้
Module 8: Be noticed with search ads
SEM (Search Marketing Optimization) คืออะไร
SEM คือ การใช้พลังเงินในการยิงโฆษณา เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็นของเห็นโดยการทำให้ Website ของเราขึ้นไปอยู่อันดับสูงๆ ในหน้า SERPs
เจ้าของ Ads จะจ่ายเงินต่อเมื่อมีคนคลิกที่ Ads หาก Ads แสดงผลแต่ไม่มีคนคลิก เจ้าของ Ads ก็จะไม่ถูกเก็บเงิน ทำให้มันถูกเรียกว่าการโฆษณาแบบ Pay Per Click
SEM เป็นการยิงโฆษณาไปยังกลุ่มคนที่มีความต้องการค้นหาสิ่งที่เกี่ยวกับธุรกิจของเราอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงเป็นวิธีที่สามารถ Convert คนที่สนใจเข้ามาเป็นลูกค้าเราได้ง่ายที่สุด
SEM Auction
SEM ทำงานด้วยระบบการประมูล วันนี้ถ้าเราค้นหาโดยใช้คำว่า “อาหารสัตว์” Search Engines ทำการจำกัดจำนวนของ Ads ที่แสดงในหน้า SERPs ดังนั้น Ads ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด ใครประมูลชนะก็ได้อยู่ต่อ เงื่อนไขที่ทำให้ Ads แต่ละตัวอยู่รอดมีอยู่ 2 เงื่อนไข
1. Bid
Bid ให้ Keywords “อาหารสัตว์” ไป 100 บาท ราคาที่เรา Bid จะเป็น Maximum cost per click หรือ Max CPC
หากคู่แข่งเรา Bid คำเดียวกันในราคา 50 บาท เรายังคงเป็นผู้นำในการประมูล ปกติค่า Max CPC สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด ดังนั้นควรสังเกตอยู่ตลอดว่าเรา Bid เหมาะสมหรือยัง เพื่อให้ Ads ของเรามี Performance ที่ดีเหนือคู่แข่ง
2. Relevance
Relevance คือ ความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันของ Ads กับ Keywords ปกติจะมีคะแนนความ Relevance ตั้งแต่ 1 – 10 คะแนน Google เรียกสิ่งนี้ว่า "Quality Score"
เช่น ถ้า Ads Headline หรือหัวข้อโฆษณาของเราตั้งว่า "อาหารสัตว์ราคาย่อมเยาว์" เมื่อมีการค้นหาด้วยคำว่า "อาหารสัตว์" Search Engine จะมองว่ามี Relevance สูง
ตัวอย่างการ Bid Keyword เดียวกัน
ดังนั้นผู้ชนะได้และพื้นที่ในการโฆษณาในหน้า SERPs คือ Ads A เพราะมีความเกี่ยวข้องสูง 50*10 = 500 ในขณะที่ Ads B แม้จะจ่ายเงินมากกว่าแต่มี Quality น้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Landing Page ที่รอต้อนรับหลังจาก Click Link จาก Ads เข้ามา ต้องเกี่ยวข้องกับ Ads เพื่อช่วยให้ได้อันดับบนๆ ในหน้า SERPs ด้วย
Module 9: Improve your search campaigns
Google Ads Account มีโครงสร้างแบบนี้ Google Ads > Ads Account > Campaigns แต่ละ Campaigns มีหน้าที่ควบคุมสิ่งต่างๆ เช่น คุมงบประมาณในการยิง Ads ต่อวัน, พื้นที่ให้ Ads แสดงผล รวมถึง Advertising networks ที่ต้องการ
Ad Groups
Ad Groups คือ กลุ่มของ Keywords เราสามารถใช้สิ่งนี้เพื่อยิง Ads ได้ ช่วยให้ Ads ของเรามีความ Relevance ขึ้น แต่ละ Campaign สามารถสร้าง Ad groups ได้หลายกลุ่ม
ถ้าเราเป็นช่างภาพที่เก่งมาก ถ่ายรูปได้หลายประเภท เช่น ถ่ายงานแต่งก็ได้ ภาพครอบครัวก็ดี ภาพเด็กๆ ก็เซียน การยิงโฆษณาแต่ละ Campaign ควรสร้าง Ad groups สำหรับภาพถ่ายแต่ละประเภท ตามภาพด้านล่าง
และในแต่ละกลุ่มก็ซื้อ Keywords แยกอีกได้เช่นกัน หากมีคน Search ว่า “Baby Photography” แน่นอนว่า Ads นี้ต้องแสดงผลแน่
เครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำ Keyword Research
Google Keyword Planner
SEMRUSH
ahrefs
3. Reach more people locally, on social media or on mobile
Module 10: Get noticed locally
ทำการตลาดกับ Local
ความหมายของ Local ในโลกออนไลน์แอดคิดว่ามันคือการทำยังไงก็ได้ให้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง หรืออยู่ละแวกเดียวกับร้านออฟไลน์ของเรารู้ว่ามีร้านเราอยู่ ก่อนที่ธุรกิจหรือร้านของเราจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างเราควรเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของคนแถวนั้นก่อน
ยกตัวอย่าง ถ้าวันนี้ธุรกิจของเราเป็นร้านอาหาร คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะนอนบนโซฟาและไถ Smartphone หาร้านใน Application สั่งอาหาร เช่น Grab, Foodpanda, Robinhood หรือ Lineman
ทุกๆ Application มักจะมี Feature "Near Me" เพื่อช่วยเรื่อง Local Marketing อยู่แล้ว ตามภาพด้านล่าง
นอกจากนั้น Website หรือ Application ของธุรกิจเอง ก็ควรมีช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน เช่น
- ชื่อร้าน
- ที่ตั้ง
- เบอร์โทรศัพท์
- เวลา เปิด-ปิด
เพราะ Smartphone เองสามารถกดโทรจากเบอร์ที่เราแปะไว้ รวมถึงเชื่อมต่อพิกัดกับ Google Maps เพื่อนำทางต่อไปได้
ตัวอย่างผลการวิจัย Search Behavior จาก Thinkwithgoogle
ธุรกิจค้าปลีก
มาตรการช่วงโควิด-19 เริ่มได้รับการผ่อนปรนแล้ว และผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในสังคมโดยมองหาร้านค้าและบริการใกล้บ้าน ความสนใจในการค้นหาด้วยคำว่า “near me” (ใกล้ฉัน) สำหรับบริการเพิ่มขึ้นกว่า 80% ในปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงความสนใจในการค้นหาด้วยคำว่า “restaurants near me” (ร้านอาหารใกล้ฉัน) และ “food near me” (อาหารใกล้ฉัน) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 100% และ 91% ตามลำดับ^1
Module 11: Help people nearby find you online
การทำ Local Advertising
Search Ads
SEM ช่วยเพิ่มสิทธิพิเศษสำหรับคนอาศัยอยู่ใกล้ร้าน, ยิง Notification เมื่อร้านเปิด และจำกัดให้แสดงผลเฉพาะในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในย่านนั้นๆ
Social Medias & LinkedIn
Social Media ต่างๆ ล้วนมี Business Pages ที่ช่วยจัดการเรื่องการยิงโฆษณาออนไลน์ สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายหรือความสนใจของคนที่เราต้องการ Target แบบละเอียดได้ด้วย เพียงแค่คลิกเดียวก็สามารถโทรตรงมาที่ร้าน หรือกดดูรีวิวได้ทันที
เชื่อมโยงลูกค้าและธุรกิจผ่านอุปกรณ์ที่ใช้งาน
Device Friendly
การออกแบบ Website ที่เหมาะกับทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น Mobile, Tablet หรือ Laptop ทำให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดี หาของเจอง่าย สามารถกดโทร หรือจองคิวเข้ารับบริการหรือนำทางมายังธุรกิจของเราได้สะดวก ช่วยให้ธุรกิจเราได้รับความนิยมมากขึ้น
GPS Function
ทั้ง Application และ Website ของธุรกิจ ควรมี Pop-up เพื่อเตือนให้ผู้ใช้งานอนุญาต หรือเปิดใช้งาน GPS ที่ติดอยู่กับตัวอุปกรณ์ในขณะใช้งาน GPS Function ถือเป็นหัวใจหลักของการทำ Local Advertising เป็นช่องทางเชื่อมธุรกิจและลูกค้า Local
Module 12: Get noticed with social media
Eat, sleep, Tweet, repeat. Social media is now a given in our daily lives. As a business, it can be a big opportunity for you.
พื้นฐาน Social Media
ในทุกๆ กิจกรรมไม่ว่าจะ กิน ขี้ .. นอน คนโพสต็ทุกอย่างลงบน Social Media และนั่นก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน
Social Media คือ สื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้คนมาเชื่อมโยงกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน บ้างก็มาหาคู่จนกระทั่งได้แต่งงานกันก็มี สำหรับธุรกิจเองนี่ถือเป็นช่องทางที่ได้พูดคุยโดยตรงกับลูกค้า บางคอมเม้นท์ในโพสต์ สามารถก่อให้เกิด Promotion หรือสินค้าใหม่ๆ ได้เลย
ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้าง Trust หรือความเชื่อมั่นให้กับสังคมวงกว้าง เช่น เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ CSR การใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือช่วยบริจาคสิ่งของให้กับผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการทำ Contextual Marketing หรือ การตลาดแบบฉวยโอกาสตามเทรนเพื่อเพิ่ม Awareness ให้กับธุรกิจได้
ลองศึกษาเรื่อง Contextual Marketing เพิ่มเติมได้จากหนังสือของพี่หนุ่ย เพจการตลาดวันละตอน ตามภาพด้านล่าง
ธุรกิจอาจขยาย Platform ไปที่ Youtube channel สำหรับวีดีโอ, Pinterest และ Instagram สำหรับรูปภาพ หรือ Twitter เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าได้จากลักษณะของสื่อออนไลน์ที่ต่างกันออกไปได้ เช่นกัน โดยธุรกิจเองอาจดึงดูดคนมา Follow ใน Platform ต่างๆ ด้วย ส่วนลด “Follow us here for 10% discount”
แยกแยะให้ชัดเจน
ก่อนโพสต์หรือทำอะไรก็ตาม เช็คให้แน่ใจก่อนว่าเป็น Account ที่เป็น Business Pages ไม่ใช่ Account ส่วนตัว ถ้าเป็นไปได้หรือที่แอดอยากแนะนำคือ แยกเป็นคนละอีเมลเพื่อป้องกันการสับสนในระหว่างใช้งาน
แม้ว่าแต่ละ Social Media Platform จะมีลักษณะการใช้งานที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็มี เช่น การตั้งชื่อและใส่คำอธิบาย (Business name and Descriptions) หากธุรกิจของเราอยู่บนหลาย Platform ก็ควรตั้งชื่อให้เหมือนกัน เพื่อความง่ายในการค้นหาของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปโปรไฟล์ควรมีรูปแบบเดียวกัน
Module 13: Deep dive into social media
วางแผนระยะยาว
มันไม่ง่ายที่เราจะอัพเดททุกอย่างตลอดเวลา ตอบทุก Comment หรือ Tag ในทุกๆ Platform หัวใจสำคัญคือเราแค่ต้องนั่งวางแผนจริงจังว่าเราต้องการจะโพสต์อะไรบ้าง จะโพสต์ที่ไหน เมื่อไหร่ จนถึงเลือกว่าใครควรจะเป็นคนจัดการเรื่องนี้
ถามว่าทำไมเราต้องมีแผน เพราะถ้าไม่วางแผนไว้ (แอดก็ไม่วางแผน 555) สุดท้ายพอไม่มีตารางกำหนดว่าเนื้อหาอะไรควรลงช่วงไหน ทำให้ Page นั้นอาจจะร้าง หรือหายไปนานๆ ได้เลย เพราะชอบมีสิ่งอื่นๆ เข้ามาแทรกทำให้เราต้องไปทำสิ่งนั้นก่อนโดยลืมไปว่าต้องมาดูและ Page ด้วย (Page แอดเงียบไปครึ่งปีเพราะไม่วางแผน)
แผน Social ควรมีลักษณะอย่างไร?
ควรวางแผนอย่างน้อย 6 - 12 เดือนล่วงหน้า ทำเป็น Calendar และเริ่มคิดหัวข้อว่าจะโพสต์เกี่ยวกับอะไรในช่วงเวลานั้นๆ ยิ่งถ้าเป็นเทศกาล เช่น วาเลนไทน์ ปีใหม่ เราก็คิดเผื่อล่วงหน้าคร่าวๆ ก่อนได้ ถ้ายุคนี้ก็ชัดเจนเลยว่าวัน Double Digit อย่าง 11.11 12.12 จนลามไปทุกๆเดือนก็ควรมีเนื้อหามารองรับ เพื่อดึงคนเข้ามาใช้จ่ายให้ธุรกิจของเรามากขึ้น
นอกจากวางแผนโพสต์เนื้อหาที่เหมาะกับแต่ละ Platform แล้ว อย่างที่แอดบอก สิ่งสำคัญคือเราต้องแบ่งคนรับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น จะทำคนเดียวทั้งหมดหรือแบ่งกับคนอื่นๆ ในการโพสต์
และสุดท้ายอย่าลืมว่าทำไม หรือเพราะอะไรเราถึงโพสต์ โพสต์เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางธุรกิจแบบไหน ถ้าเป้าหมายเป็นการสร้างการเป็นที่รู้จักให้กับธุรกิจ ต้องมั่นใจว่าเนื้อหาในโพสต์ถูกออกแบบมาให้ทำเช่นนั้น
นอกจากนั้นยังมี Tools อีกหลายตัวที่สามารถโพสต์แบบอัติโนมัติให้เราได้ เพียงแค่เราตั้งค่าล่วงหน้าลงไป ทุกอย่างก็จะง่ายจนงง เช่น Hootsuite, Buffer และ Everypost
การวัดผลจาก Social Media
ในทุกๆ Platform จะมีส่วนที่เป็นการวัดผลให้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยอดการเข้าถึงในแต่ละโพสต์ หรือข้อมูล Demographics ของ Audience ลองดูตัวอย่าง Page Malonglearn ของแอดตามภาพด้านล่าง
แต่การลงชื่อเข้าใช้ทุก Platform เพื่อดูข้อมูลในแต่ละที่แยกกันอาจใช้เวลานานและยุ่งยาก Tools เช่น Zocial Eye, Mandala, Sanroo สามารถเปรียบเทียบข้อมูลจาก Platform ต่างๆ เข้าด้วยกันได้และให้ข้อมูลหมดในที่เดียว
โดยพื้นฐานแล้วเครื่องมือเหล่านี้จะค้นหา Social Media ทั้งหมดที่ค้นหาหรือ Mention ถึงธุรกิจของเรารวมถึงคู่แข่งด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยระบุ Platform ใหม่ที่อาจจะเหมาะกับธุรกิจของเรามากขึ้น
นอกจากนั้น Google Analytics 4 ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยวัดผลช่องทางต่างๆ ที่พาคนเข้าสู่ Website/Application ได้เช่นกัน ไว้แอดจะมาเขียนเกี่ยวกับ GA4 เพิ่มในอนาคต
Module 14: Discover the possibilities of mobile
ทรงอย่างแบด แชทอย่างบ่อย
การโทรผ่านมือถือครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1973 อีก 11 ปีต่อมาโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกจาก Motorola วางจำหน่ายในปี 1984 และมีราคาสูงถึง 2,500 ปอนด์!
ในยุคนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์ที่ทรงพลัง เล่นอินเทอร์เน็ต เช็คอีเมล จีบสาว แชท ถ่ายภาพ นำทางด้วย GPS โพสต์บนโซเชียลมีเดีย และอื่นๆ อีกมากมาย ชัดเจนเลยว่าทุกธุรกิจควรเข้าถึงลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ
Mobile Website
Mobile Website คือ Web ที่เหมาะกับอุปกรณ์พกพาและมีเนื้อหาเหมือนกันกับผู้ที่ใช้ Desktop พูดง่ายๆ คือ คนเข้า Website บนมือถือผ่าน Mobile web browser เช่นเดียวกับเค้าทำบน Web browser ในเครื่อง Desktop นั่นเอง
Responsive Website
สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองตามขนาดหน้าจอของผู้ใช้ ถ้าธุรกิจเรามี Responsive Website ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เพื่อแยกให้แต่ละอุปกรณ์
ลองดูตัวอย่าง Website https://www.malonglearn.com/ ตามภาพด้านล่าง
ถ้าใครมี Website ก็ไปลองวัด Performance ของ Website ตัวเองได้ทั้ง Mobile และ Desktop ได้ที่ https://pagespeed.web.dev/
การที่ Website เป็น Mobile-friendly จะทำให้ค่า SEO ของ Website ดียิ่งขึ้น คนใช้โทรศัพท์มือถือก็มีโอกาสเจอเรามากขึ้นนั่นเอง
Mobile Apps
Mobile Apps คือ แอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งลงในอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้
โดยทั่วไปแล้วแอปจะมีฟังก์ชันเฉพาะที่ทำได้ไม่ง่ายนักบน Web browser พวกคุณสมบัติทั่วไปของ Smartphone เช่น กล้องหรือ GPS ข้อดีของแอปคือสามารถส่งข้อความไปยังมือถือของแต่ละคนได้ แม้ว่าจะไม่ได้เปิดใช้แอปอยู่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “Push Notification”
ปัจจุบันแอดคิดว่าทุกคนคงได้ Notification จาก Apps ต่างๆ จนต้องไล่ปิดกันแทบไม่ทัน ในมุมของเจ้าของ Apps ก็ต้องพยายามส่ง Promotion Notification รวมถึงพัฒนาวิธีการใช้และ Process การจ่ายเงินให้ง่ายที่สุดเพื่อดึงลูกค้าไว้กับธุรกิจของตัวเองรวมถึงสร้าง Loyalty Customers เพื่อเพิ่มรายได้และผลกำไรให้ธุรกิจอีกด้วย
Module 15: Make mobile work for you
Search Campaign สำหรับมือถือ
คนส่วนใหญ่เวลาหาอะไรก็ตามบนมือถือ จะใช้คำค้นหาหรือ Keyword ที่สั้นกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะบางทีใช้มือเดียวในการพิมพ์ค้นหาเร็วๆ เช่น ถ้าค้นหาด้วยคอมพิวเตอร์อาจใช้ Keyword เป็น "ช่างประปาในเขตบางรัก" แต่ถ้าค้นหาด้วยมือถืออาจใช้ Keyword เป็น "ก๊อกน้ำรั่ว" เป็นต้น
แอดมีแนะนำ Keyword Research Tools เพื่อหา Keyword ให้เหมาะกับธุรกิจไว้ที่ Module 9 แล้ว ลองย้อนกลับไปดูได้
การยิงโฆษณา SEM ส่วนมากมักมุ่งเป้าไปที่การโฆษณาเพื่อจะทำยอดขายเป็นหลัก และนั่นได้ผลกับคนที่ใช้ Desktop ในการค้นหาซะส่วนใหญ่ แต่ในมุมของผู้ใช้มือถือพวกเขาอาจแค่ต้องการความช่วยเหลือ ณ ขณะนั้นแทน อารมณ์แบบเร็วเข้า! ท่อน้ำที่บ้านแตกแล้ว
Google และ Bing สามารถระบุเงื่อนไขในการยิงโฆษณา เช่น "Mobile Only" หมายความว่าผู้ใช้บน Desktop จะไม่เห็นโฆษณานี้ ทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่วางแผนในโฆษณาบนมือถือจะตรงกลุ่มเป้าหมายและมี Conversion ที่ดี
Display Campaign สำหรับมือถือ
การยิงโฆษณาแบบ Display ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มลูกค้า หรือทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักไปในวงกว้างมากขึ้น
โดยปกติวิธีการยิง Display Ads สามารถยิงออกไปได้หลากหลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละอุปกรณ์ ไม่ควรใช้ One size fit all เพราะแต่ละอุปกรณ์มีขนาดหน้าจอไม่เท่ากัน
เราอาจมีโฆษณาที่น่าสนใจมากบนแท็บเล็ต แต่มีขนาดใหญ่เกินไปใจบนมือถือ หรือโฆษณาที่เหมาะกับมือถือ แต่ไม่ดึงดูดความสนใจของผู้ใช้แท็บเล็ต สามารถลองใช้ Google Ad Gallery เพื่อสร้าง Display Ads ให้เหมาะกับแต่ละอุปกรณ์ได้ง่ายๆ
Display Ads ยังสามารถยิงโฆษณาเข้าไปใน Mobile Apps ได้ด้วย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานมือถือที่เป็นปัจจัยที่ 5 ของคนยุคนี้ไปแล้ว
Module 16: Get started with content marketing
Content Marketing การตลาดที่ทรงพลัง
Content Marketing คือ การทำการตลาดด้วยเนื้อหาประเภทต่างๆ เช่น บทความ, วีดีโอ, โพสต์ใน Social Media ที่ถูกคิดมาเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับธุรกิจหรือบริการ
การทำเนื้อหา หรือ Contents ที่ดี ช่วยเพิ่มความเป็นตัวตนให้กับธุรกิจนั้นๆ สิ่งนี้ช่วยให้เกิด Influencers เกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในโลกออนไลน์ ไม่เว้นแม้กระทั่งแอดเองก็ใช้ Content Marketing เช่นกัน ไม่ยิงโฆษณา แต่สร้างเนื้อหาที่ดีและมีประโยชน์ต่อผู้คน เพื่อดึงคนเข้ามาอ่านเนื้อหาบน Website
ยิ่งยุคนี้ต่างจากยุคก่อนที่เราไม่สามารถปฏิเสธโฆษณาใดๆ จากสื่อยุคนั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือทีวีก็ตาม แต่ยุคนี้ทุกคนสามารถปิดรับโฆษณาที่ก่อกวนจิตใจบนโลกออนไลน์ได้ และ Content Marketing ช่วยให้ธุรกิจเชื่อมต่อกับผู้คนได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ยกตัวอย่าง บทความนี้แอดเขียนมาเพื่อหวังให้ตอบโจทย์กับคนที่อยากเริ่มเรียนเกี่ยวกับ Digital Marketing โดยจะเป็นใครก็ได้ที่เริ่มสนใจ หรืออยากหาความรู้แบบย่อยง่าย รวมถึงหาที่เรียนเก็บใบ Certificate ฟรีๆ จาก Google
แนวทางการทำ Content Marketing ที่มีประสิทธิภาพ
กุญแจสู่ความสำเร็จคือการสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์ 3 สิ่งนี้
- มุ่งเน้นที่การตอบสนองความต้องการของคนที่เป็นเป้าหมาย
- สร้างเนื้อหาที่พวกเค้าจะมองว่ามีประโยชน์และคุณค่า
- ทำให้พวกเค้ามีส่วนร่วมเพื่อที่พวกเค้าจะติดตามและกลับมาดูอีกเรื่อยๆ
แนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเสริมการทำ Content Marketing
- ใช้เวลาในการทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้น ดูว่าธุรกิจหรือ Page แบบไหนที่พวกเค้าติดตามบน Social Media เพื่อรู้ว่าพวกเค้าชอบและสนใจอะไร
- ทดลองสร้างเนื้อหาเพื่อค้นหาประเภทเนื้อหาที่เหมาะสม ที่ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาบน Website มากขึ้น และอย่ากลัวที่จะใช้รูปแบบสื่อที่หลากหลาย
- เลือก Platform ให้เหมาะสมเพื่อเผยแพร่เนื้อหา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเรากำลังสื่อสารถูกกลุ่มเป้าหมาย
- ใช้ภาษาธรรมชาติเพื่อเปรียบเสมือนว่า เรานั่งคุยกับกลุ่มเป้าหมายเมื่อเค้ากำลังอ่านเนื้อหาของเรา
- ทำให้เนื้อหาให้มีเอกลักษณ์ น่าสนใจ และน่าตื่นเต้น ภาพที่สะดุดตา และภาษาที่ให้ข้อมูลเพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
รูปแบบของ Content Marketing
Blogs
โดยทั่วไป Blogs จะเป็นส่วนหนึ่งของ Website เป็นบทความต่างๆ ที่ถูกเขียนโดยแบรนด์หรือธุรกิจเอง ในบางครั้งก็ให้คนอื่นๆ มาช่วยเขียนได้เช่นกัน การทำ Blogs ที่มีคุณภาพสูงช่วยสร้างตัวตนและสามารถแชร์ต่อได้ใน Social Media Platform ต่างๆ ด้วย
Infographics
Infographics เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการนำเสนอความรู้ด้วยภาพ มีรูปแบบที่โดดเด่นและสะดุดตา สามารถช่วยนำเสนอเนื้อหาที่ซับซ้อนให้ออกมาเข้าใจง่าย ส่วนใหญ่ใช้ Icon และสีสันเพื่อดึงดูดความสนใจ
Ebooks
เป็นคู่มือเพื่อการศึกษาเรื่องต่างๆ ที่อ่านง่าย มุ่งเน้นไปที่หัวข้อเฉพาะ รูปแบบนี้ให้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านและทำให้เจ้าของ Ebooks โดดเด่นในฐานะผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ
Videos
วิดีโอมีเนื้อหาตั้งแต่การสาธิตทำของ D.I.Y อย่างการแต่งบ้าน ทำอาหาร หรือสอนยิง Ads ออนไลน์ นอกจากนั้นการรีวิวสินค้าถือเป็นอีกเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงมาก สินค้ายี่ห้อดังๆ มักจ้าง Influencers ที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามใน Channel เป็นจำนวนมาก รีวิวสินค้าและให้ค่าตอบแทนสูงมากๆ
และยังมี Live Streamer ดังๆ ที่เล่นเกมโชว์อย่าง HEARTROCKER ของเรานั่นเอง การทำเนื้อหาตลกๆ ก็สามารถเป็นเพื่อนคู่ใจยามเดินทางไกลได้ เช่น Channel ยกกำลัง เป็นต้น
4. Reach more customers with advertising
Module 17: Connect through email
พื้นฐาน Email Marketing
กุญแจสำคัญในการเชื่อมโยง หรือติดต่อกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ นั่นก็คือ Email List เพราะสิ่งนี้เปรียบเสมือนบ้านเลขที่ในการส่งจดหมายไปที่บ้านของพวกเค้าในยุคก่อน Email ช่วยให้พวกเค้าได้รับการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่น หรือสิทธิพิเศษเกี่ยวกับตัวพวกเค้าเอง
การใช้แบบสอบถามในระหว่างการกด Subscribe ช่วยให้ธุรกิจแบ่งประเภทความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ เพื่อไม่ทำให้คนที่ Subscribe Website เกิดความรู้สึกรำคาญในเนื้อหาที่เค้าไม่ชอบ หรือส่งโปรโมชั่นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเค้าชอบโดยเฉพาะ
การทำให้เนื้อหาใน Email สนุกสนานและมีประโยชน์ ถ้าผู้ที่ติดตามชื่นชอบพวกเค้าก็มองว่าธุรกิจของเราเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เค้าพร้อมซื้อ ธุรกิจก็สามารถขอคำติชมเกี่ยวกับประสบการณ์การ Shopping ผ่านทาง Email เพื่อพัฒนาบริการต่อไปได้เช่นกัน
การเขียน Email Marketing ที่ดี
อีเมลจะถูกเปิดหรือไม่ เริ่มต้นที่ Subject เราต้องสร้างความประทับใจแรกทันทีเมื่อลูกค้าเช็ค Email เช่น "สมชาย ลูกสุนัขของคุณมีสุขภาพดีที่สุดในบางรักหรือเปล่า"
Subject ที่ดีควรหลักเลี่ยงคำว่า "Free", "Reminder" และ "Specials" ระบบจะกรองออกเพราะคิดว่าเป็นสแปม เขียนหัวเรื่องให้สั้นและเรียบง่าย โดยไม่เกินสิบคำ พยายามรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์และมีความเกี่ยวข้องมากที่สุดในอีเมล
อย่าลืมใช้ชื่อและที่อยู่ Emailในช่อง "จาก" ที่ระบุธุรกิจหรือชื่อร้านอย่างชัดเจน บรรทัดหัวเรื่องของอีเมลสามารถสร้างหรือทำลาย Campaign ของธุรกิจได้
หลังจากนั้นเริ่มทักทายด้วยคำว่า สวัสดี [ชื่อ-นามสกุล ลูกค้า] แบบภาพด้านบนเลย สองสิ่งที่ลูกค้าจะเห็นคือชื่อธุรกิจของเราในช่อง "จาก" และบรรทัดหัวเรื่องของอีเมล
แม้ว่าเราจะสร้างข้อความที่น่าสนใจแล้ว และคนส่วนใหญ่ก็เปิดเพื่อสแกนดูเฉยๆ ดังนั้นควรรักษาเนื้อหาให้กระชับและตรงประเด็น อาจมี 1 - 3 ประโยค และจดจ่ออยู่กับแนวคิดเดียว แล้วค่อยส่งไปยังบทความที่ยาวกว่าและข้อมูลเพิ่มเติมบน Website แทน
ลิงก์ใน Email ควรมี CTA (Call to action) กระตุ้นให้ผู้รับคลิก ตัวอย่างเช่น "คลิกที่นี่เพื่อรับส่วนลด 25 เปอร์เซ็นต์จากการสั่งซื้อครั้งต่อไปของคุณ" หรืออาจจะ "คลิกที่นี่เพื่อจัดส่งฟรีเมื่อสั่งซื้อเกิน 500 บาท"
ทดสอบด้วย A/B Testing
A/B Testing คือ การสร้างอีเมลมากกว่า 1 รูปแบบเพื่อดูว่ารูปแบบใดทำงานได้ดีกว่ากัน และเลือกใช้รูปแบบที่ดีกว่า
สมมติว่าวันนี้เราต้องส่ง Email เพื่อแจ้งว่ามีสินค้ารุ่นใหม่ออกวางจำหน่าย แต่ไม่ชัวร์ว่าควรใช้ Email แบบไหนดี เราสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น A และ B จากนั้นส่ง Email โดยใช้หัวเรื่องที่ต่างกัน และดูว่าหัวเรื่องแบบไหนที่มี "อัตราการเปิด" สูงกว่า เมื่อได้ผู้ชนะแล้วเราก็ตัดสินใจง่ายขึ้น
Module 18: Advertise on other websites
พื้นฐาน Display Advertising
Display Advertising คือ โฆษณาที่แสดงผลเพื่อดึงดูดความสนใจของคน เช่น Banner ที่เป็นข้อความและวีดีโอมักแสดงผลอยู่บน Website ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเภทธุรกิจของเรา
ย้อนกลับไปในโลกออฟไลน์ Display Ads ที่เราคุ้นเคย มักอยู่บน Billboards หรือในทีวี โดยหลักการจะประกอบด้วยเจ้าของพื้นที่ เช่น เจ้าของป้าย Billboard หรือ เจ้าของช่องทีวี ขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อให้ธุรกิจมาทำโฆษณา
ในโลกออนไลน์พื้นที่โฆษณาของ Display Ads อยู่บน Website ที่เราเข้าชม ธุรกิจต่างๆ สามารถจ่ายเงินเพื่อให้โฆษณาปรากฏต่อเมื่อมีคนประเภทที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ อยู่ในหน้า Website ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ธุรกิจประเภทเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน มักจับมือกันเพื่อยิง Display Ads ข้ามไปมาในเครือข่ายเพื่อขยายพื้นที่โฆษณาและกลุ่มเป้าหมายไปในตัว เช่น ถ้าธุรกิจของเรา คือ โรงหนังหรือการผลิตภาพยนตร์ ก็สามารถจับมือกับ Website ที่ทำในเรื่องวิจารณ์หรือรีวิวภาพยนตร์ เพราะกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างเชื่อมโยงกันโดยตรง เพื่อเพิ่มพื้นที่ Display Ads ได้เช่นกัน
ความแตกต่างระหว่าง Display Ads และ SEM
เมื่อมีคนค้นหาอะไรบางอย่าง เช่น ร้านขายอาหารสัตว์ และโฆษณาของธรุกิจแสดงขึ้นบนหน้าจอ บางทีเค้าก็ไม่ได้คลิกที่โฆษณาของเรา แต่ไปคลิกที่ Link อื่นแทน
การใช้ SEM ในการยิงโฆษณา ทำให้ตัวโฆษณาจะแสดงผลต่อเมื่อมีคนใช้ Keyword ตรงกับที่เรากำหนดไว้อย่างที่แอดได้พูดไปแล้วใน Module ที่ผ่านๆ มา ดังนั้นเมื่อกลุ่มเป้าหมายออกจากหน้า Search Engine หลังจากคลิก Link อื่นไปแล้ว SEM ก็จบสิ้นแค่นั้น
แต่ Display Ads กลับต่างออกไป ธรุกิจของเรายังมีโอกาสเป็นตัวเลือกของกลุ่มเป้าหมายต่อได้ เพราะ Link ที่ถูกคลิกหลังจากค้นหาบน Search Engine ไปแล้ว ยังคงเป็นประเภทเดียวกับธุรกิจของเราเนื่องจาก Keyword เดียวกัน นอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้ลงโฆษณามีตัวเลือกในการสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น รูปภาพ วิดีโอ และกำหนดขนาดได้หลากหลาย
Module 19: Deep dive into display advertising
ทำ Display Ads ให้ตอบโจทย์กับธุรกิจ
การตัดสินใจว่า Display Ads แบบไหนเหมาะกับธรุกิจขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้าเป้าหมายของธุรกิจมีค่อนข้างเยอะเราสามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อยิงโฆษณาไปสู่เป้าหมายที่ต่างกันโดยกำหนดเงื่อนไข้ให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้
จุดเริ่มต้น คือ การเข้าใจ Funnel ของ Customer Journey เพื่อรู้ว่าช่องทางไหนเป็นช่องทางหลักของลูกค้าในการเข้าถึงประเภทธุรกิจแบบเรา เนื่องจาก Display Ads ช่วยขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายได้
ถ้าเป้าหมายของธุรกิจคือการเพิ่มการรับรู้ (Brand Awareness) เราควรกำหนกกลุ่มเป้าหมายให้กว้างเข้าไว้ และใช้ Ads ที่สร้างความแตกต่างและประทับใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพราะพวกเค้าไม่ได้สนใจค้นหาธุรกิจของเราตั้งแต่แรก
ขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดทิศทางให้คนพูดถึงธุรกิจของเราในแง่มุมไหน เช่น ธุรกิจของเรามีจุดเด่นที่ความเป็นกันเองและตลก หรือราคาประหยัดคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้เป็นภาพจำ (Brand Identity) ของธุรกิจ
ถ้าเป้าหมายของธุรกิจเป็นการเพิ่มความได้เปรียบคู่แข่ง เน้นให้เห็นถึงประโยชน์ของสินค้าและบริการ ตรงนี้อาจจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายให้ชัด เช่น คนที่เคยเข้ามา Website หรือคนที่เคยซื้อสินค้า และคนที่สนใจประเภทสินค้าเดียวกัน จากนั้นพยายามเปลี่ยนให้คนที่อยู่ใน Stage ของ Considering ให้สนใจสินค้าของเรา และบอกเค้าว่าสินค้านี้แหละช่วยพวกเค้าได้แน่
และสุดท้าย คือ พยายามเปลี่ยนให้กลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ Stage สุดท้าย คือ Purchase ไม่ว่าจะเป็นการทำ Retargeting เพื่อกำหนดเป้าหมายใหม่ เช่น คนที่เข้ามากดเลือกของใส่ตระกร้าแล้วแต่ยังไม่กดซื้อ
ทำความรู้จักกับ Ad Networks
Ad Networks เป็นเครือข่ายโฆษณาแบบ Display ที่เปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลางที่เชื่อมโยงระหว่างธุรกิจที่ต้องการลงโฆษณาบน Website และเจ้าของ Website ที่มีพื้นที่ในการลงโฆษณา เพื่อลดเวลาในการไปเสาะแสวงหา Website ประเภทเดียวกับแต่ละธุรกิจและมีพื้นที่ลงโฆษณาด้วยตัวเอง
อีกสิ่งที่ Ad Networks ทำได้ คือ การจัดการงบประมาณในการซื้อและขายโฆษณาที่เกิดขึ้นทุกวินาที โดยรวบรวมเงินจากแต่ละธุรกิจและจ่ายให้กับเจ้าของพื้นที่โฆษณา และนอกจากนั้นยังแชร์ข้อมูลในแง่มุมต่างๆ ให้กับแต่ละธุรกิจด้วย เช่น สถิติในการถูกคลิก หรือ Conversion ที่เกิดจากโฆษณาแต่ละชิ้น
การกำหนดเป้าหมายใหม่ (Retargeting)
Retargeting มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ เปรียบเสมือนการกระชากหัวลูกค้ากลับมาซื้อของแม้ว่าพวกเค้าจะออกไปแล้วก็ตาม (Hardcore ไป 55+) ที่จริงเป็นการเตือนลูกค้าว่ายังมีของอยู่ในตะกร้านะ เพื่อดึงคนกลับมาสู่ Funnel เก่าที่เค้ายังคงค้างอยู่ หรืออาจทำให้เค้าคุ้นชินกับธุรกิจเรามากขึ้น
การทำ Retargeting ไม่ได้ทำกับข้อมูลลูกค้ารายคนโดยลงลึกถึงชื่อ เบอร์โทร แต่มักเป็นการกำหนดเงื่อนไขกว้างๆ เพื่อแบ่งกลุ่มใหม่ เช่น คนที่มีของอยู่ในตะกร้ามากกว่า 7 วัน หรือคนที่กลับมาดูสินค้าเดิมซ้ำ มากกว่า 3 ครั้งใน 7 วันที่ผ่านมา
โฆษณาจากการทำ Retargeting มักได้ผลดี เพราะมีพื้นฐานจากสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่แค่ยังไม่จบ Stage การตัดสินใจซื้อ วิธีการนี้มักใช้งานกับ Existing Customers หรือกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้วนั่นเอง
Module 20: Make the most of video
ใช้ Online Video เพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจ
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานบน YouTube และ TikTok รวมกันประมาณ 3,500 ล้านคนต่อเดือน (สถิติจาก statista.com) ตามภาพด้านล่าง
นั่นถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะไปโลดแล่นอยู่บน Video Platform เหล่านี้ ถ้าเนื้อหาช่วยส่งเสริมทั้ง Awareness และ Consideration Stage ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ยิ่งช่วยเพิ่มรายได้และกำไรอย่างก้าวกระโดด
เช่น ถ้าธุรกิจของเราเป็นร้านขายวัตถุดิบทำอาหารอย่างซอสปรุงรส เราอาจทำ Channel สอนทำอาหารและเมนูสุดอินเทรนด์โดยใช้วัตถุดิบของเรา อาจขยายกลุ่มเป้าหมายด้วยเมนูที่ตอบโจทย์แต่ละกลุ่มให้เจาะจงลงไปอีก เช่น สายหวาน สายสุขภาพ สายของทอด เป็นต้น
ตั้งงบสำหรับทำ Video Content
ขั้นตอนแรก คือ การวางแผนเนื้อหาอย่างรอบคอบ เช่น แทนที่เราจะตัดต่อคลิปวีดีโอความยาว 2 ชม. อาจเปลี่ยนเป็นการแบ่งเนื้อหาเป็นตอนสั้นๆ และใช้เทคนิคการถ่ายทำช่วยแทน การทำเช่นนี้ ช่วยให้ประหยัดเวลาและงบในการจัดทำฉากได้อีกด้วย
การวางแผนล่วงหน้าจะดียิ่งขึ้นถ้ามีการวาง Story Board เพื่อจัดลำดับเนื้อหาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฉาก รวมถึงบทพูดของคนในคลิป ช่วยให้แจกแจงงบประมาณให้วัตถุดิบและฉากอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยุคก่อนการถ่ายคลิปวีดีโอต้องมีการเช่าสถานที่ เช่น สตูดิโอ และต้องจ่ายเงินสำหรับช่างภาพ แต่ยุคนี้ Smartphone เครื่องเดียวก็สามารถถ่ายคลิปดีๆ ได้แล้ว ฉากก็อาจไปถ่ายทำบ้านเพื่อน หรือซื้ออุปกรณ์ราคาถูกๆ มาทำ D.I.Y เองก็ได้เช่นกัน
วิธีช่วยโปรโมต Video ให้เป็นที่รู้จัก
- ตั้งชื่อและ Keyword ที่คนมักใช้ค้นหา
- จัดระเบียบวีดีโอด้วยการแบ่งหมวดหมู่ ทำเป็น Playlist เพื่อง่ายและเพิ่มความต่อเนื่องให้การรับชม
- ใส่ Call to action เช่น กด Subscribe กดติดตาม หรือ กดแชร์
- อัพโหลดวีดีโออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อยู่ในความสนใจอยู่เสมอ
- ใช้ # หรือ Hashtag เพื่อช่วยให้การค้นหาวีดีโอง่ายขึ้น
การวัดผล Video Performance
การรู้ว่าคนดูวิดีโอจากที่ไหน เป็นกุญแจสำคัญในการโปรโมต หากคนส่วนใหญ่ดูวิดีโอบน YouTube ให้เน้นอัพโหลดคลิปลงไปใน YouTube นอกจากนั้นเรายังรู้ได้ว่าช่วงเวลาไหนที่คลิปของเราถูกกดดูมากที่สุด
ที่สำคัญเราสามารถดูได้ว่ามีคนดูวีดีโอจบประมาณกี่คน ข้อมูลตรงนี้ทำให้เราปรับความยาวของคลิปให้เหมาะสมกับคนที่ติดตามดูคลิปของเราได้ เพราะถ้าเราวางเนื้อหาหรือไฮไลต์ไว้ตอนท้าย นั่นหมายความว่าถ้าคลิปเรายาวเกินไป ไฮไลต์ที่เราเตรียมอาจไม่ถูกเห็นได้
ถ้าคนส่วนใหญ่ดูวิดีโอเพียง 2-3 วินาทีแรก แล้วกดปิดออกไป แสดงว่าเนื้อหาอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของพวกเค้า อาจลองเปลี่ยน Video Cover หรือตั้งชื่อและใส่ Description ให้ชัดเจน เพื่อให้คนรู้คร่าวๆ ว่าเนื้อหาในวีดีโอเกี่ยวกับอะไร
ที่สำคัญ อย่าลืมดู Comment ต่างๆ ในแต่ละวีดีโอ บางทีเราอาจได้คำแนะนำดีๆ หรือเนื้อหาที่คนอยากให้ทำเพิ่มเติมมากขึ้น และสิ่งที่เราคิดว่าดีนั้นดีต่อพวกเค้าจริงๆ หรือเปล่า
5. Track and measure web traffic
Module 21: Get started with analytics
Digital Analytics คืออะไร
Digital Analytics คือ การวัดผล Online Traffic เช่น การเข้ามายัง Website และ Application, การคลิกปุ่มต่างๆ, เวลาที่ใช้งาน, หน้าแรกที่เข้ามาและหน้าสุดท้ายก่อนออกไปและทำการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจทั้งมุมของการตลาดและการคิด Product ใหม่ๆ
ประโยชน์ของ Digital Analytics
ใน Digital Marketing Funnel ปกติแล้วเราจะมีอยู่ 3-4 Stages หลักๆ คือ
- Acquisition: ดึงคนเข้ามายัง Website
- Behavior: ดูพฤติกรรมและสร้าง Engagement กับคนที่ถูกดึงเข้ามาบน Website แล้ว
- Conversion: เปลี่ยนจาก Visitors ให้กลายเป็น Customers ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของหรือกดสมัครสมาชิก
- Loyalty: ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำอยู่เรื่อยๆ และชักชวนคนรอบข้างเข้ามาเป็นลูกค้าเพิ่ม
โดย Tools ที่ใช้วัดผลบนโลกออนไลน์มีอยู่ 2 ค่ายหลักๆ
- Google Analytics
- Adobe Analytics
วัดผลอะไรได้บ้าง
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเรื่อง Dimensions และ Metrics กันก่อน
1. Dimensions
Dimension คือ ข้อมูลเชิงคุณภาพที่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ โดยส่วนใหญ่ใช้คู่กับ Metrics ถึงมีความหมาย ตัวอย่าง Dimension เช่น City Name, Page Title, Landing Page
2. Metrics
Metrics คือ ข้อมูลเชิงปริมาณ มีลักษณะเป็นตัวเลขใช้วัดผลคู่กับ Dimensions เช่น จำนวน Users, จำนวน Sessions, จำนวน Events
การใช้งาน Dimensions และ Metrics ช่วยให้เราเข้าใจ Website Performance เช่น เข้าใจว่า Page ไหนบน Website ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและต่ำสุด เพื่อ Take action และปรับปรุงให้ดีขึ้น
นอกจากนั้นยังเข้าใจลักษณะลูกค้า ช่วงอายุ เพศ ความสนใจและความชื่นชอบ จนถึงอุปกรณ์ที่พวกเค้าใช้เล่น Website หรือ Application ของเราได้ด้วย เราสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าตามเงื่อนไขต่างๆ เพื่อยิงโฆษณาเฉพาะกลุ่มช่วยให้ไม่เสียงบประมาณมากเกินความจำเป็น และไม่สร้างความรำคาญให้กับกลุ่มที่ไม่สนใจด้วย
Module 22: Find success with analytics
การวัดผล SEO ด้วย Google Search Console และ Google Analytics
การวัดผล SEO ส่วนใหญ่เรามักใช้เครื่องมือ Google Search Console ตามภาพด้านล่าง
Tools นี้สามารถวัดผลได้ว่า Keyword อะไรที่พาคนมาสู่ Website เรามากที่สุดผ่านการค้นหาบน Search Engine นอกจากนั้นยังสามารถดู Overall Performance ของ Website ง่ายๆ ได้ด้วย ตามภาพด้านล่าง
เราสามารถวางแผนการทำเนื้อหาบน Website เพิ่มเติมโดยสังเกตจาก Keyword ที่อยู่บน Google Search Console ด้วยก็ได้
ยิ่งถ้า Website นั้นๆ มีการใช้ Web Analytics Tools อย่าง Google Analytics อยู่แล้ว สามารถ Link ข้อมูลของ Google Search Console เข้าไปใน Google Analytics ได้เลย จะเห็นว่ามี Average Position หรืออันดับของ Website หลังจากถูกค้นหาด้วย Keyword แต่ละคำด้วย ตามภาพด้านล่าง
การวัดผล SEM ด้วย Google Ads และ Google Analytics
นอกจากวัดผล SEO แล้ว การวัดผล SEM สามารถทำได้ Tools ที่ชื่อว่า Google Ads เป็นเครื่องมือที่วัดผลการยิงโฆษณาโดยมี Metrics หลักๆ เช่น Cost Per Click, Conversion Rate และ Google Ads ก็สามารถเชื่อมข้อมูลกับ Google Analytics ได้เช่นกัน ตามภาพด้านล่าง
ข้อมูลที่เห็นช่วยให้เรารู้ว่า Campaign ไหนที่ใช้งบประมาณคุ้มค่าควรทำต่อ หรือ Campaign ไหนควรยกเลิกเพราะ Convert คนได้น้อย ส่วนมากฝ่ายการตลาดของแต่ละธุรกิจจะสนใจส่วนนี้เป็นพิเศษเพราะเป็นการวัดความสำเร็จของ Campaign ได้เป็นตัวเลขชัดเจน
ยิ่งดูใน Google Analytics ก็สามารถหาสาเหตุได้ว่าทำไมมัน Success หรือ Fail เพราะมี Dimensions และ Metrics มากมาย เช่น Demographic ของคนที่เข้ามาเล่น Website หากไม่ตรงกับ Target ของ Ads สาเหตุอาจมาจากวางแผน Campaign ผิดตั้งแต่แรก เป็นต้น
Module 23: Turn data into insights
ใช้ Data เพื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลควรเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ยิ่งเข้าใจลูกค้าและธุรกิจดีแค่ไหน การตลาดจะยิ่งตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
ในโลกของข้อมูลเรามักแบ่งประเภทข้อมูลออกเป็น 2 ประเภท
- Qualitative Data ข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ ข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือใช้แบ่งประเภทและวัดผลด้วยตัวมันเองไม่ได้ เช่น ภาษา, อุปกรณ์, ประเทศ
- Quantitative Data ข้อมูลเชิงประมาณ คือ ข้อมูลที่วัดเป็นตัวเลขได้ เช่น จำนวนคนที่เข้าชม Website หรือยอดขายที่ Website ทำได้ในหนึ่งเดือน
วิธีใช้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้ามีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เช่น ถ้าต้องการถามความรู้สึกหรือความคิดเห็นของคน ควรทำเป็นแบบสอบถามเพื่อถามเค้าตรงๆ แต่ถ้าอยากรู้ระยะเวลาที่คนใช้ในแต่ละหน้า การใช้ข้อมูล Metric ใน Google Analytics ก็ตอบโจทย์ได้ทันทีโดยที่เราไม่ต้องไปถามลูกค้าโดยตรง
การรวมข้อมูลรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นวิธีที่ดีในการบอกว่าสิ่งใดใช้ได้ผลและสิ่งใดใช้ไม่ได้ผล แบบสอบถามทางออนไลน์อาจช่วยให้เราปรับวิธีการทำงานที่หน้าร้านออฟไลน์ของธุรกิจได้ทันที เพื่อประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า
เข้าใจ Data Cycle
Data Cycle คือ วัฏจักรของข้อมูล ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน
- Plan (วางแผน)
- Do (ทำ)
- Check (ตรวจสอบ)
- Act (ดำเนินการ)
ยกตัวอย่างสถานการณ์ ทีมการตลาดต้องการจัด Campaignรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนปั่นจักรยานไปทำงาน
Plan
ทีมการตลาดจะระบุเป้าหมายและวางแผนเรื่องการโปรโมต โดยทีมการตลาดมองว่า
เป้าหมาย คือ การเห็นการใช้รถยนต์ในการสัญจรไปทำงานลดลง 25% ในอีก 3 เดือนข้างหน้าโปรโมตด้วยวิธีการ ยิงโฆษณา SEM และใช้ Social Media
Do
ขั้นตอนนี้ ทีมจะทำการออกแบบโฆษณาและเปิดตัว Campaign บนช่องทางต่างๆ ที่วางแผนไว้
Check
หลังจาก Campaign สิ้นสุดลง ทีมงานจะวัดจำนวนผู้ที่คลิกโฆษณาและประเมินว่า Campaign มีผลกระทบต่อจำนวนคนที่ปั่นจักรยานไปทำงานหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีคนคลิกเข้ามายัง Website ผ่าน SEM เป็นจำนวนมาก แต่ช่องทาง Social Media กลับแทบไม่มีคนคลิกเข้ามาเลย
Act
เป็นขั้นตอนที่เราค้นพบอะไรบางอย่างเพื่อปรับปรุง Campaign ในอนาคต ในกรณีนี้ ทีมการตลาดสามารถตัดสินใจเปลี่ยน Social Media Platform ที่ใช้ ปรับเนื้อหาหรือโพสต์ในช่วงเวลาอื่นของวัน และดูว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเพิ่ม Traffic ได้หรือไม่
จัดการข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขด้วย Spreadsheets
Spreadsheets เป็น Software application ที่ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการข้อมูลในรูปแบบของแถวและคอลัมน์ เรียกง่ายๆ ก็คือตารางที่ทุกคนคุ้นชินกัน เช่น Microsoft Excel และ Google Sheets
Spreadsheets ช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นตัวเลขและช่วยคำนวนค่าต่างๆ ทางสถิติได้ รวมไปถึงการทำ Charts รูปแบบต่างๆ ให้ง่ายต่อการวิเคราะห์อีกด้วย
แอดมีเขียนบทความเกี่ยวกับ Google Sheets ไว้หลายบทความเลย ติดตามได้จากลิ้งข้างล่างนี้ได้เลย
6. Sell products or services online
Module 24: Build your online shop
ตะลุย E-commerce และ E-Marketplace
ปัจจุบันแอดเชื่อว่าทุกคนซื้อของผ่าน E-commerce และ E-Marketplace เจ้าใหญ่กันอยู่แล้ว ดังนั้นธุรกิจไหนที่ยังไม่มีของไปขายบนโลกออนไลน์ ถือว่าค่อนข้างล้มเหลวพอสมควร
พื้นฐานการขายของออนไลน์ คือ การที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินให้กับธุรกิจของเราได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนผ่าน QR Code หรือบัตรเดบิตและบัตรเครดิต ก็ตาม
E-commerce คือ เว็บไซต์ที่ธุรกิจนั้นๆ ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเอง รวมถึงการดูแลระบบหลังบ้านและระบบการจัดการสั่งซื้อเองทั้งหมด
E-Marketplace คือ Platform ที่มีทั้งเว็บไซต์และ Application ที่ขายสินค้าหลากหลายยี่ห้อในหลายหมวดหมู่ เช่น Lazada และ Shopee
การมีของขายอยู่ใน E-commerce หรือ E-Marketplace สามารถวัดผลได้เสมือนกับการที่มีคนเดินช้อปปิ้งในร้านออฟไลน์ของเราเลยทีเดียว
แอดจะยกตัวอย่าง NocNoc ที่เป็น E-Market Place สำหรับขายของเกี่ยวกับบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถ้าเป็นลูกค้าออฟไลน์ที่ต้องการซื้อโต๊ะทำงานสักตัว เค้าก็แค่เดินเข้าไปที่ร้านขายโต๊ะทำงานและสำรวจลักษณะของมัน
ในขณะที่ลูกค้าออนไลน์บน NocNoc ก็สามารถซูมดูรูปโต๊ะทำงานได้เช่นกัน นอกจากนั้นเรายังเก็บจำนวนที่โต๊ะตัวนี้ถูกคลิกเข้ามาดูได้ด้วย เปรียบเสมือนกับการนับว่ามีคนมาสัมผัสเจ้าโต๊ะตัวนี้ในโลกออฟไลน์กี่ครั้ง ตามภาพด้านล่าง
ถ้าเราไม่อยากเปิด E-commerce ของเราเอง ทุกวันนี้เราสามารถนำสินค้าไปวางขายบน E-Marketplace Platform อย่าง Lazada, Shopee, Nocnoc ได้เช่นกัน เพราะ Platform เหล่านี้มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เฉลี่ยหลายล้านคนต่อเดือน เป็นการเพิ่มการมองเห็นและการรับรู้ของธุรกิจของเราได้อีกด้วย
Module 25: Sell more online
สร้าง User Experience ที่ดี
ขั้นแรกการออกแบบ Website ต้องเป็น Responsive คือ ปรับ UI ให้เข้ากับทุกขนาดหน้าจอของลูกค้า ใช้งานง่ายกับทุกอุปกรณ์ และค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
เช่น Navigation Bar ต้องเข้าใจง่าย แบ่งหมวดหมู่หลักและหมวดหมู่ย่อยได้อย่างชัดเจน มีฟังก์ชันการซูมภาพสินค้าแบบชัดมากๆ Full HD ราวกับว่าลูกค้าได้เห็นสินค้าจริงในร้านค้าออฟไลน์ ที่สำคัญการอธิบายรายละเอียดของสินค้า เช่น ขนาด ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้นในการสั่งซื้อสินค้านั้นๆ
หน้าจอ Add to cart และขั้นตอนการจ่ายเงินควรทำได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนั้นการที่มี Payment Gateway ที่ดีช่วยให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าเค้าจะไม่ถูกโกง ยิ่งถ้าติดตามสถานะของสินค้าได้จะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ
การแนะนำสินค้าที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกค้าเคยซื้อ (Product Recommendation) สามารถจูงใจให้ลูกค้ากด Add เข้าตะกร้าหรืออาจตัดสินใจซื้อในที่สุด
ทำให้สินค้าโดดเด่น
สินค้าที่เราต้องการดันยอดขาย หรือมีโปรโมชันแรงๆ ควรอยู่ตั้งแต่หน้าแรก เมื่อลูกค้าเข้ามาเล่น Website ต้องเห็นได้เลยในทันที อาจทำในรูปแบบของ Banner หรือมี Call to action ด้วยสีที่โดดเด่น
นอกจากนั้นการมี Landing Page เฉพาะ สำหรับสินค้าที่ต้องการยิงโฆษณาช่วยเพิ่มความน่าสนใจจากลูกค้าได้ เนื่องจากมีพื้นที่ให้ใส่รายละเอียดหรือคำอธิบายเพิ่มขึ้นมากกว่าการที่สินค้าถูกจัดอยู่ในหน้ารวมสินค้านั่นเอง
7. Take a business global
Module 26: Expand internationally
ขยายตลาดสู่โลกกว้าง
ขั้นตอนแรกเริ่มจากการดูราคา Online Ads เพื่อวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนยังมีโอกาสหรือช่องว่างให้กับประเภทธุรกิจของเรา Google Analytics เองก็สามารถดูได้ว่าลูกค้าของธุรกิจมาจากประเทศไหนบ้าง
เมื่อเรารู้แล้วว่าควรขยายธุรกิจไปที่ประเทศไหน ขั้นต่อไปคือการเอาชนะกำแพงภาษา
ภาษาและวัฒนธรรม
สมมติว่าถ้าเราต้องการขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม แน่นอนว่าข้อมูลใน Website ของเราทั้งหมดต้องรองรับภาษาเวียดนาม การเปลี่ยนเนื้อหาทั้งหมดให้เป็นภาษาอื่น ทางที่แนะนำคือการจ้างเจ้าของภาษามาแปล
เพราะ Tools ต่างๆ เช่น Google Translate ก็ไม่ได้รองรับ 100% มันจะตลกๆ และไม่เป็นธรรมชาติ ในมุมลูกค้าอาจคล้ายกับการที่เค้าฟังหุ่นยนต์สื่อสารแทน ไม่ใช่จากภาษาของคน เป็นอีกปัจจัยที่อาจเกิด User Experience ที่ไม่ดีได้
นอกจากนั้นการศึกษาวัฒนธรรมหรือเทศกาลของประเทศที่เป็นเป้าหมายสามารถเพิ่มยอดขายด้วยการสร้าง Campaign ที่เข้ากับประเทศนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา
การเงินและภาษี
นอกจากภาษาแล้ว สกุลเงินของสินค้าบน Website ควรถูกปรับให้เข้ากับแต่ละประเทศ พร้อมทั้งวิธีการชำระเงินที่ต้องมองหา Payment System ที่ใช้ได้อย่างสากล เช่น PayPal หรือมีเรื่อง Crypto Currency เข้ามาเกี่ยวข้อง
เรื่องภาษีถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องมีฝ่ายกฎหมายศึกษาเพื่อใช้คำนวนต้นทุน-กำไร รวมถึงการป้องกันการทำผิดกฎหมายในเรื่องภาษีของแต่ละประเทศได้อีกทางนึงด้วย
ระบบ Supply Chain
ต้องมั่นใจว่าการผลิตสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าเมื่อขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศและส่งได้ทันเวลา ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีของลูกค้าที่รอสินค้านานมาก ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจเมื่อมีคนรีวิวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ลงใน Website
ได้เวลาทดสอบความรู้เพื่อรับใบ Certificate
เมื่อเรียนจบทั้ง 26 Modules แล้ว ก็ได้เวลาทดสอบเพื่อรับใบ Certificate จาก Google ข้อสอบมีทั้งหมด 40 ข้อ เกณฑ์การผ่านอยู่ที่ 32/40 หรือประมาณ 80% ตามภาพด้านล่าง
สรุปว่าแอดสอบผ่านแหละทุกคน ได้ 87% จากนั้นระบบจะให้เรากรอกชื่อและนามสกุลลงไป ตามภาพด้านล่างเพื่อใส่ไปในใบ Certificate
เรียบร้อยครับเพื่อนๆ ได้ Certificate จาก Google Digital Garage เป็นที่เรียบร้อย
Recap
สรุป!
แอดว่าคอร์สนี้เนื้อหาแน่นมากๆๆๆ สำหรับปูพื้นฐานของทุกคนที่สนใจด้าน Digital Marketing แม้ว่าเนื้อหาบางตอนจะเก่าไปบ้างนิดหน่อยสำหรับยุคนี้ เช่น Google Analytics ที่เป็น Version เก่า แต่หลักการและพื้นฐานของ Digital Marketing ยังใช้ได้อยู่เสมอ
ถ้าใครชื่นชอบเนื้อหาแบบนี้ สามารถกด Subscribe เพื่อรับ Newsletter ได้ฟรี! สามารถติชมหรือช่วยแอดเชค Typo ด้วยการ Comment ไว้ด้านล่างได้เลย
ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ เป็นบทความที่ยาวจริงๆ ฮ่าๆๆๆ
Member discussion